ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 90 คน
การวิจัยเชิงสังเคราะห์ : การพัฒนาชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพ ติดตาม ประเมินผล เพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ
นักวิจัย :
ฑิณกร โนรี ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
4 มีนาคม 2568

จากธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายในระยะ 5 ปี เพื่อให้มีการกระจายบุคลากรระหว่างพื้นที่มีความเป็นธรรม มีการปรับการทำงานจากเชิงกายภาพสู่ดิจิทัล และมีระบบการศึกษา การผลิต และการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศ ตลอดจนมีระบบติดตามประเมินผลนโยบายกำลังคนด้านสุขภาพ และการกำหนดมาตรการในการเปลี่ยนแปลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและจัดทำ “ชุดตัวชี้วัดกำลังคนด้านสุขภาพ” ตามธรรมนูญสุขภาพ การจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย และพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการต่าง ๆ การศึกษาครั้งนี้ใช้หลักการ AAAQ ได้แก่ 1) มิติความเพียงพอ (Availability) 2) มิติทางด้านการการะจาย (Accessibility) 3) คุณลักษณะความสามารถการให้บริการ (Acceptability) และ 4) คุณภาพ (Quality) และใช้การทบทวนวรรณกรรม การรวบรวบข้อมูล วิเคราะห์วัตถุประสงค์ของตัวชี้วัดระดับองค์กร ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงใช้กระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ (Consultative meeting) โดยการศึกษาครั้งนี้กำหนดตัวชี้วัดออกเป็น 4 หมวด รวมจำนวน 13 ตัวชี้วัด จากข้อมูลตัวชี้วัดทำให้สามารถประเมินสถานการณ์แนวโน้มที่เกี่ยวกับกำลังคนด้านสุขภาพ ดังนี้ ตัวชี้วัดกลุ่มที่ 1 สถานการณ์การผลิตกำลังคนด้านสุขภาพในปัจจุบัน ศักยภาพของสถาบันการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการผลิตบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานพยาบาลและสาธารณสุข ตัวชี้วัดกลุ่มที่ 2 การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพ พบถึงความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลตัวเลขผู้สอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ อัตราการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพไม่เต็ม 100% ของจำนวนบัณฑิตที่จบมาในแต่ละปี ซึ่งสามารถสะท้อนคุณภาพของกระบวนการผลิตได้ในระดับหนึ่ง ตัวชี้วัดกลุ่มที่ 3 ปัจจุบันฐานข้อมูลทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพของสภาวิชาชีพ ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าบุคลากรเหล่านั้นยังประกอบวิชาชีพอยู่หรือไม่ (active status) หรือ ทำงานอยู่ที่ไหน การใช้ฐานข้อมูลจากหน่วยบริการ (Facility-based data) และความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายบุคลากรทางภูมิศาสตร์ (Geographical mal-distribution) ยังคงปรากฏอยู่ ตัวชี้วัดกลุ่มที่ 4 ตัวชี้วัดเชิงมาตรการ หลายมาตรการมีการดำเนินงานอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข แต่อาจจะขาดการบูรณาการจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคเอกชน ทั้งในการจัดตั้งกลไกอภิบาลนโยบายกำลังคนด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ และคณะกรรมการปฏิรูปกำลังคนด้านสุขภาพในภาพรวม รวมถึง Digital platform ในการเชื่อมโยงข้อมูล ที่ผ่านมาแต่ละสภาวิชาชีพมีการพัฒนาฐานข้อมูลสมาชิกของตนเอง ในขณะที่ในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขพยายามพัฒนาระบบฐานข้อมูลทั้งการบริการ การเงินการคลัง รวมถึงกำลังคนด้านสุขภาพ บนแนวคิด Facility-based ที่ใช้หน่วยบริการเป็นผู้นำเข้าข้อมูล (Input data) ข้อเสนอในเชิงการจัดกลไกการจัดการ ดังนี้ กลไกที่ 1 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลวิชาชีพ (Health workforce registry) โดยการพัฒนาระบบข้อมูลพื้นฐานวิชาชีพ (Minimal dataset) กลไกที่ 2 การจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลหลักระหว่างหน่วยงาน (Data sharing platform) และกลไกที่ 3 การพัฒนาระบบอภิบาลนโยบายกำลังคนด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับพื้นที่ ที่สามารถดำเนินการได้ในระยะยาว คือ กระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาจัดเก็บ และควบคุมกำกับตัวชี้วัด ให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนเชิงเทคนิคในการพัฒนากลไกการเชื่อมโยงข้อมูล (Data sharing platform) และจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลกลางกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ ภายใต้หลักการในการรักษาความลับ (Confidentiality) ของข้อมูล และให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสภาวิชาชีพ เป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดข้อมูลจำเป็นพื้นฐาน (Minimal data-set) และพัฒนามาตรฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับระดับนานาชาติ รวมถึงให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนาระบบการรายงานข้อมูลผู้ปฏิบัติงานจริงในสถานบริการเอกชน ทั้งในระดับโรงพยาบาลและคลินิก ให้สภาวิชาชีพกำหนดเงื่อนไขคำว่า Active workforce ของตนเอง และพัฒนาระบบฐานข้อมูลสมาชิก (Registry) และจัดทำมาตรฐานข้อมูลเฉพาะทาง (Specialty classification) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติ รวมถึงข้อเสนอต่อกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้พัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหลักสูตรในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในทุกมหาวิทยาลัยและในทุกระบบการรับ (Admission) และพัฒนาระบบฐานข้อมูลรายบุคคล (Individual data) รวมถึงให้นำข้อมูลความต้องการของผู้ใช้ไปวางแผนการผลิตบัณฑิต ให้เกิดความเพียงพอทั้งด้านจำนวนและสมรรถนะที่เหมาะสม


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6241

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้